งานก่อสร้างเดียวกัน ทำไมผู้รับเหมาแต่ละเจ้าเสนอราคาไม่เท่ากัน

ทำไมผู้รับเหมาแต่ละเจ้าเสนอราคาไม่เท่ากัน

เจ้าของบ้านเคยสงสัยไหม ทำไมเวลาเอางานก่อสร้างให้ผู้รับเหมาก่อสร้างแต่ละเจ้าเสนอราคา พบว่าแต่ละเจ้าดันเสนอราคาไม่เท่ากัน ทั้งที่เนื้องานที่ต้องการให้ทำก็เป็นแบบเดียวกัน สร้างความงุนงงให้กับเจ้าของบ้านเป็นที่สุด ลำพังแค่ปวดหัวกับการที่จะรีโนเวทบ้านแล้วยังต้องมาปวดหัวกับเรื่องราคาจากผู้รับเหมาอีก ทำไมถึงเป็นแบบนั้นนะ?  ต้องขอบอกกับเจ้าของบ้านแบบนี้ เบื้องต้นอยากให้คุณทำความเข้าใจก่อนว่า ผู้รับเหมาแต่ละเจ้า มีต้นทุน และค่าใช้จ่ายที่ไม่เท่ากัน 

การรีโนเวทบ้านสักหลัง หรือซ่อมแซมส่วนต่าง ๆ ของบ้าน เจ้าของบ้านมักมองหาผู้รับเหมาก่อสร้าง ที่มีความชำนาญในงานก่อสร้างนั้น ๆ เพราะคาดหวังให้งานออกมาตรงตามความต้องการมากที่สุด ดังนั้นจึงเปิดให้ผู้รับเหมาหลายเจ้าเสนอราคาเข้ามาเพื่อคัดเลือกเจ้าที่มีความพร้อมในการก่อสร้าง และงบประมาณเหมาะสมที่สุด แต่ก็มีคำถามตามมาว่า รายละเอียดงานที่ส่งให้ก็เป็นรายละเอียดเดียวกัน แต่ทำไมเสนอราคาให้ไม่เท่ากัน และนี่คือคำตอบว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น  

4 ข้อสำคัญที่ทำให้ การเสนอราคาของผู้รับเหมาแต่ละเจ้าไม่เท่ากัน

1.ต้นทุนค่าของ  

เรื่องของต้นทุนค่าของ เป็นเรื่องหลักที่ผู้รับเหมาก่อสร้างนำมาพิจารณาก่อนที่จะทำเสนอราคาให้กับท่านเจ้าของบ้าน เพราะราคาค่าวัสดุ และอุปกรณ์ก่อสร้างนั้นมีการปรับราคาอยู่เสมอ ดังนั้น การที่ผู้รับเหมาแต่ละเจ้าเสนอราคาไม่เท่ากัน เพราะมีต้นทุนค่าของที่ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับแหล่งที่มาของวัสดุนั้น ๆ อาจให้ราคาได้ถูกกว่า หรือผู้รับเหมาบางรายมีทักษะการต่อรองราคาที่ดีกว่าคนอื่น รวมถึงมีคู่ค้าที่ดี ให้เครดิตได้ จึงทำให้ต้นทุนค่าของถูกกว่าผู้รับเหมารายอื่น ๆ    

เหตุการณ์สมมุติ  

ผู้รับเหมา A เป็นผู้รับเหมาที่รู้จักร้านค้าวัสดุก่อสร้างเยอะ ใช้งานกันบ่อย จึงทำให้ผู้รับเหมารายนี้ขอราคาพิเศษ หรือขอเครดิตกับทางร้านได้ เนื่องจากเป็นพันธมิตรทางการค้ากัน 

ผู้รับเหมา B มีวัสดุก่อสร้างที่เก็บไว้ในโกดังจำนวนมาก และตรงกับความต้องการของงานนี้ จึงไม่ต้องสั่งซื้อของใหม่ ช่วยประหยัดงบในส่วนต้นทุนค่าของได้อีก 

ผู้รับเหมา C ไม่มีวัสดุก่อสร้างเหลืออยู่ในโกดัง จึงต้องสั่งซื้อวัสดุใหม่ทั้งหมด และยังไม่มีคู้ค่า หรือร้านค้าที่คุ้นเคยกัน ต้องจ่ายในราคาเต็ม ไม่มีส่วนลดอะไรทั้งสิ้น

ดังนั้น เวลาผู้รับเหมาก่อสร้างเสนอราคาเข้าไปพร้อมกันทั้ง 3 เจ้า ผู้รับเหมา C มีโอกาสที่จะเสนอราคาสูงกว่า ผู้รับเหมา A และ B ทำให้ผู้รับเหมา C อาจไม่ได้รับเลือกจากเจ้าของบ้าน 

2. ต้นทุนค่าแรง  

แรงงาน ก็ถือเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ทำให้งานก่อสร้างสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ดังนั้น ฝีมือหรือทักษะของแรงงานก็มีส่วนให้ผู้รับเหมาก่อสร้างนำมาประกอบการคิดต้นทุนค่าแรงก่อนที่จะทำเสนอราคาให้ท่านเจ้าของบ้านด้วย เพราะถ้าทีมช่างมีความชำนาญ รู้มือกัน และไว้ใจได้ จะทำให้ผู้รับเหมาประเมินระยะเวลา และคำนวณต้นทุนค่าแรงได้อย่างเหมาะสม แต่ในทางตรงกันข้ามหากทีมช่างไม่มีความชำนาญในงาน เป็นมือใหม่ ทำให้งานมีปัญหา ต้องแก้ไขงานในที่สุด ส่งผลถึงระยะเวลาในการทำงาน และต้นทุนค่าแรงที่เพิ่มขึ้นตามวันนอกเหนือจากการวางแผนของผู้รับเหมา

เหตุการณ์สมมุติ 

ผู้รับเหมา A มีทีมงานที่รู้มือกันเพราะทำงานด้วยกันมานาน มีความชำนาญจึงทำงานได้ไว้มาก และแทบไม่ต้องแก้ไขงานเลย งานจึงเสร็จตามระยะเวลาที่ผู้รับเหมาวางแผนงานไว้ และไม่กระทบกับต้นทุนค่าแรงที่คำนวณไว้ 

ผู้รับเหมา B เพิ่งรับทีมงานใหม่เข้ามาทำงาน ทำให้งานเดินช้าเพราะไม่รู้มือกัน และต้องแก้ไขงานบ่อย ๆ จึงเกิดการล่าช้าไม่เป็นไปตามแผนงานที่ผู้รับเหมาวางไว้ และกระทบกับค่าแรงที่คำนวณไว้ในที่สุด เพราะเพิ่มจำนวนวันการทำงานของทีมช่างเนื่องจากมีการแก้ไขงาน 

นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ผู้รับเหมาแต่ละรายเสนอราคาไม่เท่ากัน เนื่องจากต้นทุนค่าแรงนั้นก็มีส่วนที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับทีมงานและทีมช่างของผู้รับเหมา ถ้าทีมงานเป็นงาน และมีความชำนาญ ก็จะไม่มีปัญหาให้ต้องมาแก้งาน แต่ถ้าทีมช่างเป็นทีมที่ไม่คุ้นมือกัน อาจทำให้เกิดการล่าช้าของงาน ผู้รับเหมาจึงต้องนำตรงนี้มาพิจารณาประกอบต้นทุนค่าแรงก่อนเสนอราคางานทุกครั้ง 

ผู้รับเหมาก่อสร้าง

3. ระยะเวลาในการทำงาน  

ระยะเวลาในการทำงาน ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ผู้รับเหมาก่อสร้างนำมาประกอบการพิจารณาก่อนที่จะยื่นเสนอราคาให้ท่านเจ้าของบ้านเสมอ เพราะยิ่งระยะเวลาในการทำงานยาวขึ้น ก็จะทำให้ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมากตามไปด้วย โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายและค่าดำเนินการจิปาถะที่จำเป็นในงานก่อสร้าง เรียกว่า ค่าโสหุ้ย จึงเป็นอีกหนึ่งอย่างที่ทำให้ผู้รับเหมาเสนอราคางานต่างกันออกไป เพราะแต่ละเจ้าอาจมีค่าโสหุ้ยแตกต่างกันขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของผู้รับเหมา

เหตุการณ์สมมุติ 

ผู้รับเหมา A เช่าโกดังไว้ใกล้ไซต์งานเพื่อเก็บวัสดุและอุปกรณ์ก่อสร้างบางส่วน ค่าเช่าโกดัง คือค่าโสหุ้ยที่จำเป็นในงานก่อสร้าง 

ผู้รับเหมา B จ่ายค่าอาหาร, ค่าซ่อมรถ และค่าซ่อมเครื่องมือบางส่วนที่เสีย ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ถือเป็นค่าโสหุ้ยเช่นกัน 

ดังนั้นการวางแผนการก่อสร้างของผู้รับเหมาจะแสดงให้เห็นถึงระยะเวลาในการทำงานที่ทำให้ผู้รับเหมานำเอาส่วนนี้มาพิจารณาประกอบก่อนการเสนอราคาให้กับเจ้าของบ้านด้วย เพราะระยะเวลาในการทำงานจะมากหรือน้อยก็ย่อมต้องมีค่าใช้จ่ายจิปาถะที่จำเป็นในงานก่อสร้างรวมอยู่ด้วยเสมอ เช่น ค่าอาหาร หรือค่าซ่อมอุปกรณ์ก่อสร้างต่าง ๆ

4. กำไรที่ผู้รับเหมาต้องการ  

กำไรของผู้รับเหมาเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ผู้รับเหมาใช้ในการประเมินว่างานนี้เหมาะสมที่จะรับหรือไม่ และกำไรที่ได้ควรเป็นกำไรที่เหมาะสม ซึ่งผู้รับเหมาแต่ละรายมักมีเกณฑ์การคิดกำไรด้วยจุดมุ่งหมายที่ต่างกัน หากต้องการขยายธุรกิจ หรือขยายทีมงาน ก็ย่อมต้องอยากได้กำไรสูง ๆ เพื่อนำเงินไปต่อยอด ขณะที่ผู้รับเหมารายอื่นอาจรับงานในราคาถูก เพราะต้องการงาน และอยากให้ช่างมีงานทำต่อเนื่อง จึงไม่เน้นกำไรมากนัก

เหตุการณ์สมมุติ 

ผู้รับเหมา A มีความต้องการจะขยายทีมเพื่อรับงานให้มากขึ้น จึงต้องการกำไรเยอะเพื่อไปต่อยอดงาน เมื่อเสนอราคาจึงเสนอราคาสูงให้กับเจ้าของบ้าน 

ผู้รับเหมา B มีความต้องการงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทีมช่างมีงานทำ มีรายได้ จึงเสนอราคางานถูกเพื่อขอให้ได้งาน 

จะเห็นว่าผู้รับเหมาทั้ง 2 เจ้ามีจุดมุ่งหมายของการได้กำไรที่ต่างกัน ดังนั้นเวลาเสนอราคาเจ้าของบ้าน ผู้รับเหมา B ก็มีโอกาสที่จะเสนอราคาถูกกว่า ผู้รับเหมา A แต่ไม่ได้หมายความว่าการเสนอราคาถูกกว่าจะเป็นผู้ถูกเลือกเสมอไป 

ทั้ง 4 ข้อนี้ จึงเป็นคำตอบที่ว่า ทำไมผู้รับเหมาก่อสร้าง จึงเสนอราคามาไม่เท่ากัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่อยากให้ท่านเจ้าของบ้านรีบตัดสินใจเลือกผู้รับเหมาโดยดูจากราคาที่เสนอมา แต่เน้นว่าควรคำนึงถึงปัจจัยอื่นประกอบด้วย เช่น ผลงานเก่า ๆ ของผู้รับเหมา เพื่อดูความชำนาญในงานที่ถนัด, ความพร้อมของทีมงาน, การเงินของผู้รับเหมา และที่สำคัญที่สุดเอกสารในงานก่อสร้างต้องครบ  

และนี่ก็เป็นข้อมูลดี ๆ ที่เรานำมาฝากกัน แต่ถ้าอยากรู้ว่าการรีโนเวทบ้านแต่ละครั้งใช้งบประมาณเท่าไร ลองศึกษาเพิ่มเติมได้จากบทความ ถามมาตอบไป ‘รีโนเวทบ้านใช้งบเท่าไหร่?’ กันดูได้ แต่ถ้าสนใจอยากหาผู้รับเหมามืออาชีพ หาได้ที่ BEAVERMAN แพลตฟอร์มผู้รับเหมาก่อสร้างอันดับ 1